วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

เพกา หรือ ลิ้นฟ้า

     เพกา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oroxylumindicum (Linn.) Vent. เป็นไม้ยืนต้นสูงชะลูดขนาดกลาง แตกกิ่งก้านบนยอดสูง ใบออกเป็นช่อใหญ่อยู่ที่ปลายกิ่ง มีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม ดอกออกเป็นช่อใหญ่ตรงยอด มีสีม่วงอมแดง บางทีก็สีน้ำตาลคล้ำ ผลออกเป็นฝักแบนยาวคล้ายดาบ กว้างประมาณ 2.4-9 ซม. ยาว 60-120 ซม. ปลายฝักแหลม ตรงกลางขอบมีรอยโป่งเล็กน้อย เมื่อฝักแก่ รอบข้างของฝักจะปริแตก ข้างในมีเมล็ดมากมาย  เมล็ดมีลักษณะแบน มีเยื่อบางใสหุ้มอยู่โดยรอบเมล็ด  เพกา  คนจีนเรียกว่า "โซยเตียจั้ว" ใช้เป็นส่วนผสมตัวหนึ่งของน้ำจับเลี้ยง ดื่มแก้กระหายคลายร้อน ดับร้อนในได้เป็นอย่างดี ส่วนเปลือกของต้นเพกา ผู้เฒ่าผู้แก่จะเอามาต้มน้ำให้แม่ลูกอ่อนดื่ม ช่วยขับน้ำคาวปลา ให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ดับพิษโลหิต และบำรุงเลือด  นอกจากนี้ชาวบ้านยังเอาเปลือกเพกาไปเผาไฟ จากนั้นก็นำมาแช่น้ำเย็น เอาน้ำนั่นแหละดื่มแก้ร้อนใน  เพกา  หรือ  ลิ้นฟ้า ผักพื้นบ้านที่นิยมกิน ฝักกันถ้วนทั่วทุกภาค โดยเฉพาะคนพื้นบ้านภาคเหนือและภาคอีสาน  ในแต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป  ภาคกลาง  ภาคใต้เรียก "ฝักเพกา"  ภาคเหนือเรียก "มะลิ้นไม้" "ลิ้นไม้"  ภาคอีสานเรียกว่า "หมากลิ้นฟ้า" "ฝักลิ้นฟ้า" "ฝักลิ้นงู" "ลิ้นไม้" "ลิ้นฟ้า"  นั่นเป็นเพราะฝักเพกามีลักษณะแบนยาว ห้อยระย้าอยู่เหนือเรือนยอดต้นที่สูงเสียดฟ้า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น